เกี่ยวกับศูนย์ฯ

ศูนย์ประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม (ศ.ร.ว.)

พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๒๕ กำหนดให้แพทยสภามีวัตถุประสงค์ในการ ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการประกอบวิชาชีพในทางการแพทย์ และมีอำนาจหน้าที่ในการรับรองปริญญา ประกาศนียบัตรในวิชาแพทยศาสตร์หรือวุฒิบัตรในวิชาชีพเวชกรรมของสถาบันต่างๆ ดังนั้นจึงเห็นสมควรจัดตั้งศูนย์ประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม เพื่อให้ทำหน้าที่ดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑ (๓) (ฎ) ประกอบกับมติของคณะกรรมการแพทยสภาในการประชุมครั้งที่ ๑๒ / ๒๕๔๖ เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๖ และด้วยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษ ตามมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๒๕ แพทยสภาประกาศจัดตั้งศ.ร.ว.ขึ้นตามข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๔๗

แพทยสภายังได้ประกาศกำหนดให้นิสิต/นักศึกษาแพทย์ที่เข้าศึกษาในสถาบันผลิตแพทย์ในประเทศไทยทุกคน นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๖ เป็นต้นไปต้องผ่านการสอบเพื่อรับการประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามเกณฑ์ที่ศ.ร.ว.กำหนดไว้

ศ.ร.ว. ได้เริ่มจัดสอบขั้นตอนที่ ๑, ๒, และ ๓ ให้กับนิสิต/นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๓, ๕, และ ๖ เป็นครั้งแรกในปีพ.ศ. ๒๕๔๙, ๒๕๕๑ และ ๒๕๕๒ ตามลำดับ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ และได้ดำเนินการสอบทั้ง ๓ ขั้นตอนอย่างต่อเนื่องให้แก่นิสิต/นักศึกษาแพทย์ในประเทศ และแพทย์ผู้จบจากต่างประเทศ เพื่อเป็นการประกันคุณภาพแพทย์ที่จบใหม่ทุกคนและมาตรฐานของโรงเรียนแพทย์ในประเทศไทยให้ทัดเทียมกัน ตลอดจนผู้ที่จบหลักสูตรแพทย์ในต่างประเทศให้เป็นมาตรฐานเดียวกับบัณฑิตไทย ในการขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา

ขั้นตอนและจุดประสงค์ของการสอบ

การประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมประกอบด้วยการสอบสามขั้นตอน ในแต่ละขั้นตอนมีจุดประสงค์ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 : เป็นการสอบเพื่อประเมินความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน (Basic Medical Sciences)

ขั้นตอนที่ 2 : เป็นการสอบเพื่อประเมินความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก (Clinical Sciences)

ขั้นตอนที่ 3 : เป็นการสอบเพื่อประเมินทักษะและหัตถการทางคลินิก ประกอบด้วย Objective Structured Clinical Examination : OSCE) ซึ่ง ศ.ร.ว. เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบ และการสอบ Modified Essay Question และ Long Case ซึ่งสถาบันการศึกษาเป็นผู้จัดการสอบ

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์สมัคร

ผู้มีสิทธิ์สมัครสอบจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

ประเภทที่หนึ่ง เป็นผู้ที่กำลังศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตในสถาบันการศึกษาในประเทศไทย หรือต่างประเทศที่แพทยสภารับรอง

ประเภทที่สอง เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตและได้รับปริญญาบัตรจาก สถาบันการศึกษาในประเทศไทยที่แพทยสภารับรอง

ประเภทที่สาม เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตและได้รับปริญญาบัตรจากสถาบันการศึกษาในต่างประเทศที่แพทยสภารับรอง

คุณสมบัติเฉพาะสำหรับการสอบแต่ละขั้นตอน

ขั้นตอนที่ 1 เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติประเภทที่หนึ่งหรือสองหรือสาม สำหรับผู้มีคุณสมบัติประเภทที่หนึ่งต้องมีใบรับรองจากสถาบันการศึกษาว่า ได้ศึกษาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน (ระดับปรีคลินิก) หรือเทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษา นับถึงวันกำหนดสอบฯ โดยได้ศึกษาครบทุกรายวิชาตามหลักสูตรระดับปรีคลินิกของสถาบันการศึกษาที่แพทยสภารับรอง

ขั้นตอนที่ 2 เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติประเภทที่หนึ่งหรือสองหรือสาม สำหรับผู้มีคุณสมบัติประเภทที่หนึ่งต้องมีใบรับรองจากสถาบันการศึกษาว่า ได้ศึกษาวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก (ระดับคลินิก) มาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษานับถึงวันกำหนดสอบฯ โดยได้ศึกษาครบทุกรายวิชาของ 2 ชั้นปีนั้นตามหลักสูตรระดับคลินิกของสถาบันการศึกษาที่แพทยสภารับรอง

ขั้นตอนที่ 3 (1) เป็นผู้ที่สอบผ่านขั้นตอนที่หนึ่งและขั้นตอนที่สองแล้ว โดยแต่ละขั้นตอนสอบผ่านมาแล้วเป็นเวลาไม่เกินเจ็ดปีนับจากวันที่แพทยสภาอนุมัติผลการสอบจนถึงวันยื่นใบสมัครสอบ ถ้าขั้นตอนใดสอบผ่าน เกินเจ็ดปี จะต้องสอบขั้นตอนนั้นใหม่ให้ผ่านก่อน

(2) สำหรับผู้มีคุณสมบัติประเภทที่หนึ่งที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ต้องมีหนังสือรับรองจากสถาบันการศึกษาว่าได้ศึกษาวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก (ระดับคลินิก) มาแล้วไม่น้อยกว่า ห้าภาคการศึกษาในระบบทวิภาคหรือเทียบเท่า นับถึงวันกำหนดสอบฯ โดยได้ศึกษารายวิชาในระดับหลักสูตรคลินิกในชั้นปีที่ 6 ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยกิตในชั้นปีที่ 6 ของสถาบันการศึกษาที่แพทยสภารับรอง

(3) สำหรับผู้ที่มีคุณสมบัติประเภทที่สามจะต้องได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในต่างประเทศ ซึ่งแพทยสภารับรองใบอนุญาตนั้น หากเป็นผู้มีสัญชาติไทยไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตดังกล่าว แต่ต้องมีเอกสารรับรองการปฏิบัติงานหลังปริญญาในฐานะแพทย์ฝึกหัด หรือเทียบเท่าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีในสถาบันการแพทย์ต่างประเทศหรือในประเทศไทยที่แพทยสภารับรองโดยการปฏิบัติงานจะต้องเสร็จสิ้นก่อนการสมัครสอบ