การประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมประกอบด้วยการสอบสามขั้นตอน ในแต่ละขั้นตอนมีจุดประสงค์ดังนี้
ขั้นตอนที่ ๑ : เป็นการสอบเพื่อประเมินความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน (Basic Medical Sciences)
ขั้นตอนที่ ๒ : เป็นการสอบเพื่อประเมินความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก (Clinical Sciences)
ขั้นตอนที่ ๓ : เป็นการสอบเพื่อประเมินทักษะและหัตถการทางคลินิก ประกอบด้วย ๔ ประเภท ดังนี้
๓.๑ การประเมินทักษะทางคลินิก (Objective Structured Clinical Examination: OSCE) ศรว.เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบ
๓.๒ การสอบอัตนัยประยุกต์ (Modified Essay Questions: MEQ) ศรว. เป็นผู้จัดทำข้อสอบกลาง จัดพิมพ์ข้อสอบ และจัดส่งข้อสอบไปให้สถาบัน โดยสถาบันการศึกษาเป็นผู้จัดการสอบและตรวจข้อสอบ
๓.๓ การสอบรายยาว (Long Case Examination: LCE) สถาบันการศึกษาเป็นผู้จัดการสอบ
๓.๔ การประเมินทักษะหัตถการ (Manual skills) 15 ทักษะ สถาบันการศึกษาเป็นผู้จัดการสอบ
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์สมัคร
ผู้มีสิทธิ์สมัครสอบจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
ประเภทที่หนึ่ง เป็นผู้ที่กำลังศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตในสถาบันการศึกษาในประเทศไทย หรือต่างประเทศที่แพทยสภารับรอง
ประเภทที่สอง เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตและได้รับปริญญาบัตรจาก สถาบันการศึกษาในประเทศไทยที่แพทยสภารับรอง
ประเภทที่สาม เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตและได้รับปริญญาบัตรจากสถาบันการศึกษาในต่างประเทศที่แพทยสภารับรอง
คุณสมบัติเฉพาะสำหรับการสอบแต่ละขั้นตอน
ขั้นตอนที่ ๑ เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติประเภทที่หนึ่งหรือสองหรือสาม สำหรับผู้มีคุณสมบัติประเภทที่หนึ่งต้องมีใบรับรองจากสถาบันการศึกษาว่า ได้ศึกษาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน (ระดับปรีคลินิก) หรือเทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษา นับถึงวันกำหนดสอบฯ โดยได้ศึกษาครบทุกรายวิชาตามหลักสูตรระดับปรีคลินิกของสถาบันการศึกษาที่แพทยสภารับรอง
ขั้นตอนที่ ๒ เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติประเภทที่หนึ่งหรือสองหรือสาม สำหรับผู้มีคุณสมบัติประเภทที่หนึ่งต้องมีใบรับรองจากสถาบันการศึกษาว่า ได้ศึกษาวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก (ระดับคลินิก) มาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษานับถึงวันกำหนดสอบฯ โดยได้ศึกษาครบทุกรายวิชาของ ๒ ชั้นปีนั้นตามหลักสูตรระดับคลินิกของสถาบันการศึกษาที่แพทยสภารับรอง
ขั้นตอนที่ ๓
(๑) เป็นผู้ที่สอบผ่านขั้นตอนที่หนึ่งและขั้นตอนที่สองแล้ว โดยแต่ละขั้นตอนสอบผ่านมาแล้วเป็นเวลาไม่เกินเจ็ดปีนับจากวันที่แพทยสภาอนุมัติผลการสอบจนถึงวันยื่นใบสมัครสอบ ถ้าขั้นตอนใดสอบผ่าน เกินเจ็ดปี จะต้องสอบขั้นตอนนั้นใหม่ให้ผ่านก่อน
(๒) สำหรับผู้มีคุณสมบัติประเภทที่หนึ่งที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ต้องมีหนังสือรับรองจากสถาบันการศึกษาว่าได้ศึกษาวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก (ระดับคลินิก) มาแล้วไม่น้อยกว่า ห้าภาคการศึกษาในระบบทวิภาคหรือเทียบเท่า นับถึงวันกำหนดสอบฯ โดยได้ศึกษารายวิชาในระดับหลักสูตรคลินิกในชั้นปีที่ ๖ ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยกิตในชั้นปีที่ ๖ ของสถาบันการศึกษาที่แพทยสภารับรอง
(๓) สำหรับผู้ที่มีคุณสมบัติประเภทที่สามจะต้องได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในต่างประเทศ ซึ่งแพทยสภารับรองใบอนุญาตนั้น หากเป็นผู้มีสัญชาติไทยไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตดังกล่าว แต่ต้องมีเอกสารรับรองการปฏิบัติงานหลังปริญญาในฐานะแพทย์ฝึกหัด หรือเทียบเท่าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีในสถาบันการแพทย์ต่างประเทศหรือในประเทศไทยที่แพทยสภารับรองโดยการปฏิบัติงานจะต้องเสร็จสิ้นก่อนการสมัครสอบ