คำถามที่พบบ่อย

1. ศรว. มีการสอบกี่ขั้นตอน

ตอบ ประกอบด้วยการสอบ 3 ขั้นตอน ดังนี้

  • ขั้นตอนที่ 1 : เป็นการสอบเพื่อประเมินความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน (Basic Medical Sciences)
  • ขั้นตอนที่ 2 : เป็นการสอบเพื่อประเมินความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก (Clinical Sciences)
  • ขั้นตอนที่ 3 : เป็นการสอบเพื่อประเมินทักษะและหัตถการทางคลินิก ประกอบด้วย 4 ประเภทดังนี้
        3.1 การสอบเพื่อประเมินความรู้ความสามารถทางด้านทักษะทางคลินิก (Objective Structured Clinical Examination : OSCE)
        3.2 การสอบอัตนัยประยุกต์ (Modified Essay Question : MEQ)
        3.3 การสอบรายยาว (Long case Examination)
        3.4 การสอบเพื่อประเมินความรู้ความสามารถทางด้านทักษะหัตถการ (Manual Skills) 15 ทักษะ

2. คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์สมัครสอบ

ตอบ 2.1 การสอบขั้นตอนที่ 1, 2 และ 3 ผู้มีสิทธิ์สมัครสอบจะต้องมีคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ ของการเป็นสมาชิกของแพทยสภา และคุณสมบัติอื่นดังนี้
    (1) ประเภทที่ 1 เป็นผู้ที่กำลังศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตในสถาบันการศึกษาในประเทศไทย หรือต่างประเทศที่แพทยสภารับรอง
    (2) ประเภทที่ 2 เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต และได้รับปริญญาบัตรจากสถาบันการศึกษาในประเทศไทยที่แพทยสภารับรอง
    (3) ประเภทที่ 3 เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตและได้รับปริญญาบัตรจาสถาบันการศึกษาต่างประเทศที่แพทยสภารับรอง

    2.1.1 ผู้มีสิทธิ์สมัครสอบจะต้องมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับการสอบแต่ละขั้นตอน ดังนี้

        (1) การสอบขั้นตอนที่ 1เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติประเภทที่หนึ่งหรือสองหรือสาม สำหรับผู้มีคุณสมบัติประเภทที่หนึ่งต้องมีใบรับรองจากสถาบันการศึกษาว่า ได้ศึกษาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน (ระดับปรีคลินิก) หรือเทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษานับถึงวันกำหนดสอบฯ โดยได้ศึกษาครบทุกรายวิชาตามหลักสูตรระดับปรีคลินิกของสถาบันการศึกษาที่แพทยสภารับรอง
        (2) การสอบขั้นตอนที่ 2เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติประเภทที่หนึ่งหรือสองหรือสาม สำหรับผู้มีคุณสมบัติประเภทที่หนึ่งต้องมีใบรับรองจากสถาบันการศึกษาว่า ได้ศึกษาวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก (ระดับคลินิก) มาแล้ว ไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษานับถึงวันกำหนดสอบฯ โดยได้ศึกษาครบทุกรายวิชาของ 2 ชั้นปีนั้นตามหลักสูตรระดับคลินิกของสถาบันการศึกษาที่แพทยสภารับรอง
        (3) การสอบขั้นตอนที่ 3
            (1) เป็นผู้ที่สอบผ่านขั้นตอนที่หนึ่งและขั้นตอนที่สองแล้วโดยแต่ละขั้นตอนนั้นได้สอบผ่านมาแล้วเป็นเวลาไม่เกินเจ็ดปี นับจากวันที่แพทยสภาอนุมัติผลการสอบจนถึงวันทำการสมัครสอบ ถ้าขั้นตอนใดสอบผ่านเกินเจ็ดปีจะต้องสอบขั้นตอนนั้นใหม่ให้ผ่านก่อน
            (2) สำหรับผู้มีคุณสมบัติประเภทที่หนึ่งซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาในประเทศไทยต้องได้รับการรับรองจากสถาบันการศึกษาว่าเมื่อนับถึงวันกำหนดสอบฯ ผู้สมัครสอบได้ศึกษาวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก (ระดับคลินิก) มาแล้วไม่น้อยกว่าห้าภาคการศึกษาในระบบทวิภาคหรือเทียบเท่าโดยได้ศึกษารายวิชาระดับคลินิกในชั้นปีที่ 6 มาแล้ว ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยกิตในชั้นปีที่ 6 ของสถาบันการศึกษานั้น
            (3) สำหรับผู้ที่มีคุณสมบัติประเภทที่สามจะต้องได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในต่างประเทศซึ่งแพทยสภารับรองใบอนุญาตนั้น หากเป็นผู้มีสัญชาติไทยไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตดังกล่าวแต่ต้องมีเอกสารรับรองการปฏิบัติงานหลังปริญญาในฐานะแพทย์ฝึกหัดหรือเทียบเท่าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีในสถาบันการแพทย์ต่างประเทศหรือในประเทศไทยที่แพทยสภารับรองโดยการปฏิบัติงานจะต้องเสร็จสิ้นก่อนการสมัครสอบ

3. สามารถสอบ ศรว. ได้กี่ครั้ง

ตอบ ต้องสอบจนกว่าจะผ่าน และต้องสอบขั้นตอนที่ 1 และ 2 ให้ผ่านก่อนถึงจะมีสิทธิ์สมัครสอบขั้นตอนที่ 3 ได้

4. สมัครสอบ ศรว. ได้อย่างไร

ตอบ 4.1 การสอบขั้นตอนที่ 1, 2 และขั้นตอนที่ 3 (OSCE) ให้ดำเนินการสมัครสอบผ่านระบบ online บนเว็บไซต์ www.cmathai.org เท่านั้น โดยเมื่อกระบวนการสมัครสอบเสร็จสิ้น ระบบจะให้พิมพ์แบบฟอร์มการชำระเงิน เพื่อนำไปชำระเงินได้ที่ธนาคารตามที่ระบุ
4.2 การสอบอัตนัยประยุกต์ (MEQ)
    4.2.1 ผู้ที่ศึกษาในสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ให้ดำเนินการสมัครสอบในสถาบันของท่าน
    4.2.2 สำหรับผู้ที่ศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างประเทศ ให้ดำเนินการสมัครสอบผ่านระบบ online บนเว็บไซต์ www.cmathai.org เท่านั้น เท่านั้น โดยเมื่อกระบวนการลงทะเบียนเสร็จสิ้น ระบบจะให้พิมพ์แบบฟอร์มสำหรับนำไปสมัครที่ที่สถาบันที่ได้ลงทะเบียนไว้
4.3 การสอบรายยาว (Long case Examination) และการสอบเพื่อประเมินความรู้ความสามารถทางด้านทักษะหัตถการ (Manual Skills) 15 ทักษะ
    4.3.1 ผู้ที่ศึกษาในสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ให้ดำเนินการสมัครสอบในสถาบันของท่าน
    4.3.2 สำหรับผู้ที่ศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างประเทศ ให้ดำเนินการสมัครสอบด้วยตัวเองที่สถาบันที่เปิดรับสมัคร

5. ผู้สมัครสอบสามารถชำระเงินค่าสมัครสอบด้วยทางใด

ตอบ การสอบขั้นตอนที่ 1, 2 และขั้นตอนที่ 3 (OSCE) ผู้สมัครสามารถนำเอกสารแบบฟอร์มชำระเงินค่าสมัครสอบ ไปชำระเงินผ่านช่องทางต่าง ๆ ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เท่านั้น ภายในวัน/เวลาที่กำหนดของการสมัครสอบแต่ละครั้ง หากผู้สมัครไม่ได้ชำระเงินภายในเวลาที่กำหนด จะไม่สามารถชำระเงินย้อนหลังได้ และต้องรอสมัครใหม่ในรอบต่อไปโดยจะถือว่าการสมัครสอบเป็นโมฆะ
    การชำระเงินค่าสมัครสอบสามารถชำระได้ ดังนี้
    1. ชำระผ่าน SCB EASY Application
    2. ชำระผ่านเครื่อง ATM และ เครื่อง CDM ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ส่วนการสอบอื่นๆ ให้ดำเนินการตามที่สถาบันที่เปิดรับสมัครกำหนด

6. สามารถเก็บผลการสอบไว้ได้กี่ปี

ตอบ 1) ผลการสอบขั้นตอนที่ 1 และ 2 สามารถเก็บผลสอบไว้ได้ 7 ปี นับจากวันที่แพทยสภารับรองผลการสอบผ่าน จนถึงวันยื่นสมัครสอบขั้นตอนที่ 3
2) ผลการสอบขั้นตอนที่ 3 ทุกประเภท สามารถเก็บผลสอบไว้ได้ 3 ปี โดยมีรายละเอียด ดังนี้
    2.1 MEQ สามารถเก็บผลสอบไว้ได้ 3 ปี นับแต่วันที่ ศรว.อนุมัติผลการสอบผ่าน
    2.2 Long case สามารถเก็บผลสอบไว้ได้ 3 ปี นับแต่วันที่สถาบันผู้จัดสอบอนุมัติผลการสอบผ่าน
    2.3 Manual Skills สามารถเก็บผลสอบไว้ได้ 3 ปี นับแต่วันที่สถาบันผู้จัดสอบอนุมัติผลการสอบผ่าน
    2.4 OSCE สามารถเก็บผลสอบไว้ได้ 3 ปี นับแต่วันที่แพทยสภารับรองผลการสอบผ่าน

7. วิธีการเข้าสู่ระบบเพื่อตรวจสอบข้อมูลการสมัครสอบ, ผลการสอบ และสั่งพิมพ์เอกสารการสอบทำอย่างไร

ตอบ ท่านสามารถ เข้าสู่ระบบได้โดยการกรอก เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน หรือเลขที่หนังสือเดินทาง (ตามที่ท่านได้ระบุไว้ในขั้นตอนการสมัครสอบ) ลงในช่อง "ชื่อผู้ใช้" และ "รหัสผ่าน
    1) กรณีสมัครสอบครั้งแรก ให้กดปุ่ม New register บนเว็บไซต์ www.cmathai.org และดำเนินการตามขั้นตอนในระบบ
    2) กรณีที่ท่านเคยเข้าใช้งาน และเปลี่ยนรหัสผ่านแล้ว ขอให้ท่านใช้รหัสผ่านใหม่ ตามที่ท่านได้ทำการแก้ไข เพื่อเข้าสู่ระบบ
    3) กรณีลืมรหัสผ่าน ท่านสามารถกดปุ่ม "ลืมรหัสผ่าน ?" และกรอกข้อมูลเพื่อยืนยันตัวตนของท่าน หลังจากนั้น ระบบจะทำการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้กับท่าน และจะแสดงรหัสผ่านดังกล่าวบนหน้าจอ

8. หลักฐานแสดงตนเองที่ต้องใช้ในวันสอบเพื่อเข้าห้องสอบมีอะไรบ้าง

ตอบ ในการสอบทุกครั้งจะต้องนำบัตรประจำตัวผู้เข้าสอบ และบัตรประจำตัวประชาชนที่ยังไม่หมดอายุ แสดงต่อกรรมการคุมสอบก่อนเข้าห้องสอบ (ผู้ที่ไม่ใช่สัญชาติไทย ให้ใช้หนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุ แทนบัตรประจำตัวประชาชน) บัตรประจำตัวผู้เข้าสอบที่มีการขีดเขียนข้อความใดๆ ไว้จะถือว่าเป็นการทุจริตในการสอบ

9. สามารถตรวจสอบสถานที่สอบได้อย่างไร?

ตอบ ในการสอบทุกครั้ง ศรว.จะทำการประกาศให้ผู้เข้าสอบสามารถพิพม์บัตรประจำตัวผู้เข้าสอบ ซึ่งบัตรประจำตัวผู้เข้าสอบจะแจ้งสถานที่สอบและรายละเอียดต่าง ๆ ให้ผู้เข้าสอบได้ทราบ อาทิ ข้อปฏิบัติฯ มาตรการฯ กำหนดการฯ และเอกสารหลักฐานที่จะต้องนำไปที่สถานที่สอบให้ผู้สมัครสอบได้ทราบ หากไปผิดสนามสอบ หรือ มาสายเกิน 30 นาที นับจากเวลาเริ่มสอบ ศรว. จะไม่อนุญาตให้เข้าห้องสอบ

10. ในวันสอบควรแต่งกายอย่างไร

ตอบ ในการเข้าสอบ: ผู้เข้าสอบจะต้องแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักศึกษา หรือแต่งกายสุภาพ ห้ามสวมเสื้อยืดหรือปล่อยชายเสื้อ และให้สวมรองเท้าหุ้มส้น หากไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัตินี้จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าห้องสอบ

11. ในวันสอบต้องนำอะไรติดตัวไปบ้าง

ตอบ ในการสอบทุกครั้งจะต้องนำบัตรประจำตัวผู้เข้าสอบ และบัตรประจำตัวประชาชนที่ยังไม่หมดอายุ แสดงต่อกรรมการคุมสอบก่อนเข้าห้องสอบ (ผู้ที่ไม่ใช่สัญชาติไทย ให้ใช้หนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุ แทนบัตรประจำตัวประชาชน) บัตรประจำตัวผู้เข้าสอบที่มีการขีดเขียนข้อความใดๆ ไว้จะถือว่าเป็นการทุจริตในการสอบ
    11.1 การสอบขั้นตอนที่ 1 และ 2 ศรว. จะเป็นผู้จัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องเขียนให้ผู้เข้าสอบ ได้แก่ ดินสอดำ 2B
    11.2 การสอบขั้นตอนที่ 3 (OSCE) ศรว. จะเป็นผู้จัดเตรียม stethoscope และอื่นๆ ที่จำเป็นให้ผู้เข้าสอบ
    ดังนั้น จึงไม่อนุญาตให้นำอุปกรณ์ใดๆ เข้าห้องสอบ ยกเว้นนาฬิกาที่ไม่เป็นอุปกรณ์ในการสื่อสารหรือใช้ในการคิดคำนวณ
    สิ่งของอื่นๆ ได้แก่ กระเป๋าเงิน โทรศัพท์มือถือ(ต้องปิดเครื่องด้วย) เครื่องมือการบันทึกข้อมูล เอกสารและตำราทุกชนิดให้วางไว้ในพื้นที่ที่กรรมการกำหนดไว้ ศรว.และสนามสอบ จะไม่รับผิดชอบหากเกิดการสูญหาย ดังนั้นจึงไม่ควรนำสิ่งของมีค่าไปยังสนามสอบ

12. ประกาศผลสอบเมื่อใด

ตอบ ประกาศผลการสอบ โปรตติดตามตามจากประกาศรับสมัครสอบในแต่ละครั้ง

13. การกำหนดการสอบขั้นตอนที่ 3 (OSCE) ที่มีการแบ่งสอบเป็นรอบๆ นั้น จะทำให้ผู้สมัครสอบที่ได้รอบแรกได้เปรียบมากว่าผู้สมัครสอบรอบอื่นๆ คือ มีโอกาสได้สอบอีกครั้งในครั้งที่ 2,3,4 ดังนั้นถ้าเป็นผู้สมัครสอบรอบอื่นๆ จะเสียเปรียบหรือไม่

ตอบ ศรว. จะจัดสอบให้ผู้สมัครสอบขั้นตอนที่ 3 (OSCE) ทั้งหมดได้สอบอย่างน้อย 1 ครั้งในการสอบที่จัด 4 รอบ และจะจัดสอบรอบที่ 5 เพิ่มเติมอีกสำหรับผู้ที่สอบไม่ผ่าน และผู้ที่เพิ่งมีคุณสมบัติครบในการสอบขั้นตอนที่ 3 (OSCE) ดังนั้นผู้สมัครสอบเกือบทุกคนจะมีโอกาสได้สอบ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย เพื่อลดการได้เปรียบเสียเปรียบ

14. หากผู้สมัครสอบต้องการเปลี่ยนแปลง/แก้ไขข้อมูลต่างๆในระบบต้องทำอย่างไร

ตอบ ให้ระบุชื่อ–สกุล และเลขประจำตัวประชาชนพร้อมข้อมูลที่ต้องการแก้ไข หรือพร้อมสำเนาการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ส่งข้อมูลมาทางอีเมล์ที่ cma@cmathai.org เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบข้อมูลและแจ้งวิธีการดำเนินการแก้ไขต่อไป

15. ข้อสอบเป็นภาษาใด

ตอบ สำหรับขั้นตอนที่ 1 และ 2 ข้อสอบเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดยกเว้นข้อสอบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคำศัพท์เฉพาะทางด้านกฎหมายไทยหรือนิติเวชศาสตร์ อนุโลมให้ใช้เป็นภาษาไทย สำหรับขั้นตอนที่ 3 เป็นการสอบภาคปฏิบัติ จึงต้องใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร

16. การพิมพ์ผลการสอบ

ตอบ
    16.1 ผลการสอบขั้นตอนที่ 1 และ 2 สามารถพิมพ์ผลการสอบได้เองจากระบบบนเว็บไซต์ www.cmathai.org จนกว่าจะได้ใบประกอบวิชาชิพเวชกรรม
    16.2 ผลการสอบขั้นตอนที่ 3 (OSCE) สามารถพิมพ์ผลการสอบได้เองจากระบบบนเว็บไซต์ www.cmathai.org ภายใน 30 วันหลังจากประกาศผลสอบ
    กรณีที่ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมเรียบร้อยแล้ว จะไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ ศรว. จึงแนะนำให้ พิมพ์ผลการสอบทุกขั้นตอนจากระบบบนเว็บไซต์ www.cmathai.org หลังประกาศผลการสอบทุกครั้ง

17. ข้อสงสัยหรือคำถามอื่นๆ สามารถสืบค้นได้จาก www.cmathai.org

ตอบ สามารถสืบค้นได้จาก www.cmathai.org